มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณแผ่นดินในการก่อสร้าง ศูนย์วิทยบริการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา และเปิดให้บริการแห่งแรกในปี พ.ศ. 2534 ที่ จังหวัดนครศรีธรรมราชโดยให้บริการอยู่ในขอบเขตพื้นที่ตั้งเป็นหลักและเน้นงานบริการห้องสมุด ต่อมาได้ขยายบทบาทของศูนย์ฯ เพิ่มขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์วิทยพัฒนาบริการ ได้ขยายการเปิดให้บริการเพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ. 2540 ที่จังหวัดเพชรบุรี นครสวรรค์ อุบลราชธานี และสุโขทัย ต่อมา ในปี พ.ศ. 2541 ได้เปิดให้บริการที่จังหวัดอุดรธานี ลำปาง และ ปี พ.ศ. 2542 เปิดให้บริการที่จังหวัดจันทบุรี ยะลา และล่าสุดที่นครนายก เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2543 ปัจจุบันเปิดดำเนินการได้ทั้งหมด 10 แห่ง และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์วิทยพัฒนา ซึ่งหมายถึง “แหล่งพัฒนาความรู้” เพื่อให้ครอบคลุมภารกิจที่มหาวิทยาลัยกำหนดให้ศูนย์ฯ เป็นเสมือนตัวแทนของมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค โดยมีขอบข่ายงานกว้างขวาง ทั้งการให้บริการแก่นักศึกษา ทุกระดับที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัย ประชาชนทั่วไป ตลอดจนมีบทบาทในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย จึงจำเป็นต้องมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องประสานกับแนวนโยบายของมหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2531 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้รับความอนุเคราะห์จากเทศบาลตำบลวารินชำราบ ให้ใช้ที่ดิน ที่ราชพัสดุ จำนวน 7 ไร่ ในเขตชุมชน ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 3 กิโลเมตร แต่เนื่องจากปัญหางบประมาณค่าก่อสร้าง มหาวิทยาลัยจึงไม่สามารถดำเนินการได้ทันที และในปี พ.ศ. 2533 มหาวิทยาลัยได้รับแจ้งให้งดใช้ที่ดินดังกล่าว เนื่องจากเทศบาลฯ ได้จัดทำโครงการพัฒนาที่ดิน เพื่อสร้างเป็นตลาดสดของเทศบาล ด้วยความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยที่จะจัดตั้งศูนย์วิทยพัฒนาเพื่อขยายและพัฒนาแหล่งบริการวิชาการในส่วนภูมิภาคของมหาวิทยาลัย จึงได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อประสานงานการจัดตั้งศูนย์วิทยพัฒนา โดยการขอใช้ที่ดินจากจังหวัดอุบลราชธานีต่อไป ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับความอนุเคราะห์จากจังหวัดอุบลราชธานีให้ใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ “บ้านหนองหอย” (บริเวณสนามม้าเดิม) ตำบลแจระแม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 15 ไร่ ได้มีการเริ่มปลูกสร้างศูนย์วิทยพัฒนา มสธ. จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2536 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2539 และเปิดทำการ เมื่อ พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในระบบเปิด ยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิต มุ่งพัฒนาคุณภาพของประชาชนทั่วไป เพิ่มพูนวิทยฐานะแก่ผู้ประกอบอาชีพและขยายโอกาสทางการศึกษาต่อสำหรับผู้สำเร็จมัธยมศึกษา เพื่อสนองตอบความต้องการของบุคคลและสังคม ด้วยการจัดระบบการเรียนการสอนทางไกล ซึ่งใช้สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิธีการอื่นที่ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียนตามปกติ
มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านบริการการศึกษา และพัฒนาเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
- บริการการศึกษาสำหรับนักศึกษาและประชาชน
- สนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอนของ มหาวิทยาลัย
- พัฒนาความร่วมมือกับเครือข่ายและชุมชนสัมพันธ์
- บริการวิชาการและวิชาชีพแก่สังคม
- อนุรักษ์ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น
- พัฒนาองค์กรตามหลักธรรมาภิบาล
- เพื่อสนับสนุนและรองรับกิจกรรมการเรียนการสอน การฝึกอบรมและงานบริการการศึกษาในระบบการสอนทางไกล
- เพื่อเป็นตัวแทนในการให้บริการสื่อการศึกษาและเทคโนโลยีต่างๆ ของมหาวิทยาลัย
- เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาค
- เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของชมรมนักศึกษา ชมรมบัณฑิต สมาคมสุโขทัยธรรมาธิราช และองค์กรอื่นที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย
- เพื่อดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ตามที่มหาวิทยาลัยมอบหมาย